เทศบาลตำบลบ้านเขว้า อำเภอบ้านเขว้า จังหวัดชัยภูมิ :www.bankhwao.go.th

 
 
สถานที่ท่องเที่ยว

ตลาดนัดชุมชนถนนสายไหมเทศบาลตำบลบ้านเขว้า

               ทุกวันเสาร์ทางเทศบาลตำบลบ้านเขว้าได้จัดโครงการตลาดนัดชุมชนถนนสายไหมฯ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนในชุมชนและหมู่บ้านใกล้เคียงได้นำสินค้าอุปโภคบริโภค มาจำหน่ายเพื่อเป็นการหารายได้เพิ่มเติมให้กับครอบครัว ภายในงานมีร้านค้า ร้านอาหารคาว หวาน รสชาติอร่อย สินค้าอุปโภคมากมาย…เชิญแวะมาเที่ยวงานกันได้นะค่ะ

แหล่งท่องเที่ยวประจำตำบล : กู่แดง

               ตั้งอยู่ในวัดกุดยาง ตำบลตลาดแร้ง เป็นโบราณสถานสมัยขอม ปัจจุบันคงเหลือเพียงฐานรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุม ก่อสูงด้วยศิลาแลง มีร่องรอยบันไดทางขึ้นทั้ง 4 ด้าน ผนังก่ออิฐแต่หักพังหมด คงเหลือเสากรอบประตูทั้ง 4 ด้าน พบทับหลังสลักเป็นภาพพระกฤษณะประลองกำลังกับช้าง ส่วนทางด้านเหนือถูกดัดแปลงโดยทางวัดได้สร้างพระพุทธรูปประทับนั่งพร้อมบันไดทางขึ้นครอบอาคารเดิม โบราณสถานแห่งนี้ประมาณอายุจากลวดลายทับหลังอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 16 ตรงกับศิลปะเขมรแบบบาปวน

ศูนย์ส่งเสริมผ้าไหมจังหวัดชัยภูมิ เทศบาลตำบลบ้านเขว้า อำเภอบ้านเขว้า จังหวัดชัยภูมิ

ประวัติศูนย์ส่งเสริมผ้าไหมจังหวัดชัยภูมิ เทศบาลตำบลบ้านเขว้า อำเภอบ้านเขว้า จังหวัดชัยภูมิ

              ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนเพื่อกระจายการผลิตและการจ้างงานไปสู่ภูมิภาค (กจภ.) ใน พ.ศ. 2548 การก่อสร้างอาคารแล้วเสร็จและเปิดใช้ได้เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2548 และอยู่ภายใต้การดูแลของเทศบาลตำบลบ้านเขว้ามาโดยตลอด ตามประวัติการทอผ้าไหมของบ้านเขว้านั้นมักจะมีเรื่องเล่าที่สืบย้อนไปถึงสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหน้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) กล่าวถึง นายแล และนางบุญมี ข้าราชการจากเวียงจันทร์ในเขตปกครองของเจ้าอนุวงศ์ ว่าได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเขตบ้านเขว้า และนางบุญมีซึ่งเป็นภรรยาก็ได้ริเริ่มการทอผ้าทั้งไหมและฝ้าย โดยใช้ความรู้ที่ได้รับการสั่งสอนมาจากบรรพบุรุษชาวเวียงจันทร์ สอนให้ชาวบ้านที่อพยพมาพร้อมกันรู้จักวิธีทอผ้าตามแบบต่างๆ จนกลายเป็นสินค้าและเครื่องบรรณาการของเมืองชัยภูมิ ต่อมาเมื่อเจ้าอนุวงศ์เกิดคิดการกบฏ นายแล ซึ่งในขณะนั้นได้เป็นเจ้าเมืองชัยภูมิและได้รับบรรดาศักดิ์เป็นขุนภักดีชุมพล ได้เข้าร่วมศึกในการต้านศึกเจ้าอนุวงศ์จนการศึกได้ชัยชนะ พระมหากษัตริย์ไทยจึงได้พระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เป็นพระยาภักดีชุมพล (แล) หรือที่ชาวบ้านเรียกกันในปัจจุบันว่า “เจ้าพ่อพระยาแล” ใน พ.ศ.2516 ด้วยการสนับสนุนของนายอำเภอบ้านเขว้า (นายอำเภอสมคิด จาปะเกษตร) และนายทองคำ อยู่วิเศษ ผู้ช่วยศึกษาธิการอำเภอบ้านเขว้า ได้ติดต่อไปทางเจ้าหน้าที่ของสำนักพระราชวังเพื่อขอนำผลิตภัณฑ์ผ้าไหมของชาวบ้านไปขายกับสำนักพระราชวัง ซึ่งก็ได้รับการตอบรับมาจนกระทั่งสามารถจัดตั้งเป็นกลุ่มทอผ้าไหมอำเภอบ้านเขว้า เพื่อทอผ้าส่งไปจำหน่ายให้กับสำนักพระราชวังได้อย่างต่อเนื่อง ใน พ.ศ.2523 ก็ได้นำเข้าไปขายยังศูนย์ศิลปาชีพ สวนจิตรลดา ซึ่งมีผู้สนใจสั่งทอจำนวนมาก กระทั่งใน พ.ศ.2530 ได้มีการส่งผ้าไหมบ้านเขว้าเข้าประกวดที่โครงการศิลปาชีพ พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จ.สกลนคร ก็ได้รับรางวัลชนะเลิศ แม้แต่ในปีต่อๆ มา ที่ส่งเข้าประกวดผ้าไหมบ้านเขว้าก็ได้รับรางวัลชนะเลิศอยู่เกือบทุกปีเช่นกัน ทำให้เทศบาลตำบลบ้านเขว้ามีนโยบายที่จะส่งเสริมให้บ้านเขว้าเป็นแหล่งผลิตและจำหน่ายผ้าไหมของภาคอีสาน โดยการสนับสนุนของอำเภอบ้านเขว้า และผู้ว่าราชการจังหวัด จัดสรรงบประมาณในการก่อสร้างศูนย์ส่งเสริมผ้าไหม ตามที่กล่าวมาข้างต้นใน พ.ศ.2548 มีจุดประสงค์ให้เป็นศูนย์กลางข้อมูลข่าวสาร จัดแสดงสินค้า และถ่ายทอดความรู้ในการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้าไหมของอำเภอบ้านเขว้า